เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [5. จูฬยมกวรรค] 5. จูฬธัมมสมาทานสูตร

ทรงสรรเสริญธัมมทินนาภิกษุณี

[467] ลำดับนั้น วิสาขอุบาสกชื่นชมอนุโมทนาภาษิตของธัมมทินนา-
ภิกษุณีแล้ว ลุกจากอาสนะ น้อมไหว้ธัมมทินนาภิกษุณี กระทำประทักษิณแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้
กราบทูลเรื่องที่ตนสนทนาธรรมีกถากับธัมมทินนาภิกษุณีให้ทรงทราบทุกประการ
เมื่อวิสาขอุบาสกกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า "วิสาขะ
ธัมมทินนาภิกษุณีเป็นบัณฑิต มีปัญญามาก หากเธอจะพึงสอบถามเนื้อความนั้น
กับเรา แม้เราก็จะพึงตอบเนื้อความนั้นเหมือนอย่างที่ธัมมทินนาภิกษุณีตอบแล้ว
เนื้อความแห่งคำตอบนั้นเป็นดังนั้นนั่นแล ท่านควรทรงจำไว้อย่างนั้นเถิด"
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว วิสาขอุบาสกมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

จูฬเวทัลลสูตรที่ 4 จบ

5. จูฬธัมมสมาทานสูตร
ว่าด้วยการสมาทานธรรม1สูตรเล็ก

[468] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย" ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม 4 ประการนี้

เชิงอรรถ :
1 คำว่า การสมาทานธรรม แปลจากคำว่า "ธัมมสมาทาน" แยกอธิบายดังนี้ คือ หมายถึงลัทธิหรือข้อวัตร
ปฏิบัติ ได้แก่ จริยาที่ตนยึดถือ คำว่า สมาทาน หมายถึงถือปฏิบัติ (ม.มู.อ. 2/468/279)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :508 }